ในช่วงเวลานี้ที่เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ของ COVID-19 และข่าวสารอีกมากมายที่ต้องรับรู้ จนบางครั้งทำให้เราหดหู่ และเกิดคำถามในใจว่าเมื่อไหร่สถานการณ์นี้จะจบลงเสียที แต่ในทางกลับกัน อยากให้ลองมองอีกมุมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประวัติศาสตร์ของโลกของเราอย่างไร
เราอยู่ในยุคของการมีภัยคุกคามที่เป็นปัญหาเชิงระบบ (Systemic problem) ที่ซับซ้อน ที่เราต้องเจอโดยไม่ทันได้ตั้งตัว และดูเหมือนจะเป็นปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (Climate change) และโรคระบาดที่เกิดจากไวรัสอย่าง COVID-19 สถานการณ์นี้เป็นการทดสอบ (Stress test) ที่จะแสดงให้เห็นถึงความพร้อมด้านระบบสุขอนามัย เศรษฐกิจ สังคม การปกครอง และระบบการทำงานของประเทศต่าง ๆ ในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่มีความเชื่องโยงกัน ว่าจะสามารถตอบสนองหรือรับมือกับผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงไร
วันนี้ผมขอจดเป็นบันทึกส่วนตัวในการสะท้อนแนวคิดและคำถามอีกมากมายของแนวโน้มที่เปลี่ยนไปในอนาคต
1.Systems Thinking:
ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมองปัญหาอย่างเป็นระบบบูรณา การ (Systems Thinking) มากขึ้น ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่สามารถช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่ซับซ้อนได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนในทุกวันนี้ คือ การสร้างระยะห่างจากคนอื่น (Social distancing) การแยกตัวเองออกจากสังคม เป็นเหมือนการใช้คานงัด (Leverage) เบื้องต้นในการช่วยชะลอตัวของการแพร่โรคระบาด (Flatten the curve) ซึ่งการผ่อนคลายปัญหาบางครั้งมีวิธีที่ปฏิบัติได้อย่างง่าย เพียงแต่ต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจนที่นำไปสู่ความร่วมมือที่ดีจากทุกฝ่าย นอกจากนี้การพิจารณาถึงวิธีแก้ไขปัญหาจะต้องคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย เพราะทั้งสองปัจจัยมีส่วนสนับสนุนหรืออาจก่อให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านที่เอื้อต่อการควบคุมโรคระบาดที่มีต่อระบบอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทยสิ่งที่เราได้เห็นเพิ่มเติมจากสถานการณ์นี้คือ ผลกระทบของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจเป็นปัจจัยต้านที่ทำให้การควบคุมโรคมีความท้าทาย เพราะเมื่อมีการ lockdown หรือปิดธุรกิจบริการ คนที่มีรายได้น้อยหรือพนักงานที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ เขาก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงได้เพราะไม่มีรายได้พอสำหรับค่าครองชีพในเมือง ทำให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์คือ การย้ายถิ่นกลับบ้าน ซึ่งสร้างความแออัดขณะเดินทางและอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้ออย่างกว้างขวางขึ้น ดังนั้นนอกเหนือจากมาตรการควบคุมโรคแล้ว ต้องมีมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้เพื่อที่จะทำให้ประชาชนอยู่ในสถานการณ์วิกฤตนี้ได้ ซึ่งในบางประเทศ เช่น อังกฤษมีการชดเชยเงิน 80% ของค่าจ้างสำหรับผู้ไม่มีงานทำในช่วงโรคระบาด สำหรับประเทศไทยก็ดูเหมือนว่ากำลังพิจารณาที่จะทำในลักษณะที่คล้ายกัน
2.Environmental sustainability:
ช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้สิ่งแวดล้อมโลกได้พักจากมลพิษที่เกิดจากการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ รวมถึงควันเสียจากโรงงาน และในส่วนของการกินอาหารที่บ้าน ก็ช่วยลดปริมาณอาหารเหลือและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon footprint) เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศที่จะช่วยกันเปลี่ยนแปลง แต่การฟื้นฟูของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของแต่ละประเทศหลังจากนี้
3.Civic Tech:
เราได้เห็นการใช้ Civic tech/ crowdsourcing/ hackathon มากขึ้น เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วขึ้น เช่น ชาวไต้หวันรวมตัวกันสร้าง Face Mask Map ที่เก็บข้อมูลบ่งบอกสถานที่ที่มีหน้ากากอนามัย ช่วยทำให้คนเข้าถึงและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้เร็วขึ้น บวกกับมาตรการอื่น ๆ กว่า 124 มาตรการที่ทำอย่างรวดเร็วมีผลต่อการรับมือที่มีประสิทธิภาพของประเทศ อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ความร่วมมือในวงกว้างของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่จะทำ Open research innovation บน Kaggle ในการแชร์ข้อมูล COVID-19 เพื่อช่วยวิเคราะห์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ ยิ่งเข้าใจเร็วและลึกมากเพียงใดก็จะช่วยให้เกิดการพัฒนาการรักษาทำได้เร็วขึ้น
4.Service automation:
ผลกระทบของ COVID-19 อาจจะนำมาซึ่งโอกาสหรือนวัตกรรมกระบวนการธุรกิจ (Business process innovation) ใหม่ ๆ หรืออาจเป็นการกระตุ้นหรือเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เข้าสู่รูปแบบของ Digital และ Online platform เร็วขึ้น ลองเริ่มต้นคิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างการ Work from Home ที่หลาย ๆ บริษัทมีการปรับใช้ สิ่งนี้ทำให้เราใช้เวลาที่บ้านนานขึ้นและพึ่งพาระบบ Online มากขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อสาร ในการทำงาน รวมถึงการจับจ่ายใช้สอย อาจส่งผลให้เกิดการเร่งขยายตัวของบริการ delivery เกิดสังคมไร้เงินสด (Cashless society) หรือส่งผลไปถึงการใช้ระบบ automation เช่น การใช้หุ่นยนต์ในการหยิบ หรือแพ็คของ นอกจากนี้งานด้านอื่น ๆ ที่ยังต้องทำเพื่อให้ชีวิตยังคงดำรงอยู่ได้ เช่น งานเก็บขยะ งานส่งของ การจ่ายตลาด ร้านอาหาร งานด้านการแพทย์ สาธารณสุข การเงิน การเรียนการสอน อาจต้องเปลี่ยนไปเช่นกันเพื่อให้รองรับความต้องการด้าน online ที่สูงขึ้น
5.Global supply chain redesign:
ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราอาจจะเน้นระบบการผลิตและกำหนดเส้นทางการส่งของที่เน้นความประหยัดและเหมาะสม (Lean and Optimal) ที่ไม่ค่อยมีทางเลือกสำรอง แต่เมื่อโรงงานและระบบส่งของทั่วโลกหยุดหรือชะลอตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้หลังจากนี้เราคงต้องคิดออกแบบ Global supply chain ใหม่ที่คำนึงถึงระบบสำรอง (Redundancy) มากขี้น มีเส้นทางในการส่งของทางเลือก ระบบการผลิต โรงงานสำรอง เพื่อที่จะตอบรับสภาวะฉุกเฉินที่อาจไม่คาดคิดอย่างที่เราเจอขณะนี้
6.Bioinformatics & AI:
มีการเร่งนำเอาเทคโนโลยีดิจิตัล Bioinformatics และ AI มาใช้ในด้านสาธารณสุขอย่างกว้างขวาง เพื่อที่จะขยายความสามารถในการรองรับผู้ป่วยโรคระบาดด้วยทรัพยากรที่จำกัด เช่น การใช้ Telemedicine ช่วยให้ผู้ป่วยในที่ต่าง ๆ สามารถเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล การใช้ Machine Learning มาช่วยวินิจฉัยโรค โดย Alibaba อ้างว่ามีระบบที่ตรวจ Coronavirus จากการทำ CT scan ที่แม่นยำสูงถึง 96% โดยใช้เวลาตรวจเพียง 20 วินาทีเมื่อเทียบกับมนุษย์ที่ใช้เวลา 15 นาที ซึ่งหากเรานำโมเดลนี้มาใช้แล้วค่อย ๆ เก็บข้อมูลเพื่อมาสอน ML model ก็สามารถทำให้เราพัฒนาโมเดลเองได้เร็วขึ้น นอกจากนี้มีการนำงานด้าน Bioinformatics มาใช้ในงานวิจัยทางการแพทย์และยา เพื่อทำความเข้าใจโรคระบาดมากขึ้น เช่น AlphaFold (AI ของ Deepmind) มาใช้ในการทำนายโครงสร้างของโปรตีนของไวรัส ซึ่งข้อมูลจากการทำนายนี้ นักวิจัยสามารถนำไปศึกษาต่อยอดเพื่อทำความเข้าใจการทำงานของไวรัส ช่วยในการพัฒนายาหรือวัคซีนในอนาคต
7.Fake news immunization:
ในภาวะฉุกเฉินที่ผู้คนตื่นตระหนก มีข่าวสารมากมายถูกแพร่กระจายจากทุกช่องทาง ทั้งข่าวจริงและข่าวเท็จ การจัดการกับปัญหา Misinformation ที่ยังคงมีอยู่ใน Social media เป็นความท้าทายของทั้งประชาชนและภาครัฐ เราอาจจะต้องเริ่มต้นที่ว่าเราควรจะมีวิจารณญาณในการรับข่าวสารจากช่องทางที่น่าเชื่อถือ หรือทำตัวเป็นผู้บริโภคสื่อที่ดี มีการตรวจสอบแหล่งข่าวหลาย ๆ แหล่งก่อนจะแชร์ให้ผู้อื่น แม้กระทั่งพักหรืองดรับข่าวสารบ้าง เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียด เริ่มสร้างภูมิคุ้มกันจาก fake news รวมทั้งมีสติ อดทนที่จะรอข่าวสารที่น่าเชื่อถือก่อนส่งต่อให้ผู้อื่น เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของการกระจายข่าวผ่าน social media มีข้อเสียคือหาต้นตอยาก ดังนั้น เทคโนโลยีอย่าง blockchain ก็อาจจะนำมาปรับใช้เพื่อตรวจสอบและติดตามที่มาได้ (traceability)
8.Global leadership:
ในขณะที่เกือบทุกประเทศในโลกกำลังดิ้นรนกับการควบคุมโรคระบาด ประเทศจีน (หลังจากที่สามารถควบคุมโรคได้จากการใช้มาตรการที่เด็ดขาดและกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตนี้) ก็ได้แสดงบทบาทของความเป็นผู้นำของโลก ที่จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ โดยส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการควบคุมโรคระบาด COVID-19 และส่งอุปกรณ์การแพทย์ ไปยังประเทศที่กำลังประสบภัยอย่างรุนแรง เช่น อิตาลี เซอร์เบีย อิหร่าน แม้กระทั่ง Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba ธุรกิจ E-commerce ยักษ์ใหญ่ของจีน ก็สนับสนุนให้ส่งชุดตรวจโรค 20,000 ชุด หน้ากากอนามัยอีก 100,000 ชุด ไปยังประเทศในแอฟริกากว่า 54 ประเทศ แสดงถึงความมีน้ำใจและความพร้อมในการจัดการปัญหาโรคระบาดในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
9.Sensor based data collection:
จากสถานการณ์โรคระบาดนี้เราได้เห็นความสำคัญของความเร็วในการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล การติดตามโรคระบาดในการหา traceability (เช่น Tracetogether หรือการจัดการผู้ป่วย) เพื่อที่จะมีมาตรการในการควบคุมจุดเสี่ยงและเตรียมพร้อมรองรับได้ ดังนั้น ในอนาคตจะมีการนำเซนเซอร์ IoT มาใช้ใน Smart City มากขึ้น ทั้งด้านการสังเกตและเก็บข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากร การจราจร ความหนาแน่นของประชากร หรือแม้กระทั่งเซนเซอร์บน smart watch, smart phone หรือ contactless biometrics (Face recognition)
10.Outbreak analytics:
ความพร้อมในการเตรียมตัวกับการระบาดในอนาคตเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งนี่เป็นที่มาของการนำ data science มาใช้ในงาน outbreak analytics ของสาธารณสุข โดยเริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูลจากแหล่งเกิดเหตุ ข้อมูลประวัติและพื้นเพของผู้ติดโรค ลักษณะการติดโรค รวมถึงการวิเคราะห์ WGS (whole genome sequencing) หรือการศึกษาหาลำดับนิวคลีโอไทด์ (Nucleotide) ของสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ข้อมูลการช่วยเหลือ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยง สร้างโมเดลในการแพร่เชื้อ รวมถึงวางแผนการจัดการเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคในอนาคตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ในวันนี้ที่เราต้องเจอกับวิกฤตที่ท้าทายระดับโลกและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ แต่ก็ได้เห็นโอกาสที่จะทำให้เกิด process innovation ที่ตอบสนองภัยโรคระบาดนี้อย่างรวดเร็ว (เช่น Crowdsourcing ในการหาความช่วยเหลือ) เพราะความเร็วเป็นสิ่งที่สำคัญ และผมอยากให้เรามองไปข้างหน้าว่า เราจะเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับสิ่งนี้ต่อไป หรือเรียนรู้เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้น ให้เรามีความพร้อมที่จะเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิดอย่างมีสติ ผมได้เห็นสิ่งที่ทุกคนพยายาม ช่วยกันแก้ปัญหาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ผมเชื่อว่าเราจะผ่านความยากลำบากนี้ไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง และมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นในสังคมไทย (อย่างน้อยเราก็รู้ว่าการล้างมือที่ถูกต้องเป็นอย่างไรใช่มั้ยครับ?)
Comments