ปัจจุบันเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่าอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ซึ่งเป็นยุคที่อุตสาหกรรมถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อาทิ เทคโนโลยี Internet of Things เทคโนโลยีด้านข้อมูล รวมถึงเทคโนโลยีเอไอ เทคโนโลยีเหล่านี้ได้เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตและโลกทั้งใบให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เล่นทั้งหลายในอุตสาหกรรมการผลิตต้องเร่งปรับตัวตามให้ทัน
ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับการผลิต การปฏิบัติงานให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงแบบชั่วข้ามคืน การวางแผนการผลิตให้แม่นยำ ไปจนถึงการจัดการระบบ Supply Chain ทั้งหมดให้ทำงานได้อย่างไร้ที่ติ
ในบทความนี้ เซอร์ทิสชวนมาสำรวจ 4 ความท้าทายที่อุตสาหกรรมการผลิตต้องเจอในปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่กำหนดความสำเร็จของธุรกิจเลยทีเดียว รวมถึงไปดูกันว่ามีหนทางและเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
1. การใช้แรงงานคน (Manual) อาจไม่เพียงพอ
ในอุตสาหกรรมการผลิต และแรงงานอุตสาหกรรม แน่นอนว่าในบางขั้นตอนเราก็ยังคงต้องอาศัยแรงงานคนอยู่บ้าง แต่สำหรับในขั้นตอนที่เราสามารถใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) และเครื่องจักรต่าง ๆ มาทดแทนได้ การหันมาใช้เทคโนโลยีทดแทนก็เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ และสามารถเพิ่มขีดความสามารถที่มากกว่าเดิมได้
เนื่องจากการใช้แรงงานคนในการทำงาน บางครั้งอาจมีข้อจำกัดด้าน ความรวดเร็ว อาจทำให้ยากต่อการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ทัน นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดด้านความปลอดภัย เนื่องจากการทำงานกับเครื่องจักรบางชนิดอาจทำให้มนุษย์เสี่ยงต่ออันตรายได้ ซึ่งเราควรพิจารณาใช้เทคโนโลยีทำแทนในส่วนนี้ และอีกปัญหาที่เรามักพบในงานที่ต้องการความละเอียดสูง ได้แก่ ปัญหาที่อาจเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Errors) ยกตัวอย่างเช่น ในงานควบคุมคุณภาพ (Quality Control) อาจเกิดเหตุการณ์ที่มีตำหนิขนาดเล็กเกินว่าพนักงานจะตรวจเจอ หรือการใช้พนักงานจำนวนมาก ทำให้มาตรฐานการตรวจอาจแตกต่างกัน
เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร?
เทคโนโลยีด้านดาต้าและเอไอ สามารถเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้งานของมนุษย์ได้ ตั้งแต่การเร่งกระบวนการผลิตให้ทำได้รวดเร็วขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า หรือการนำ Robotics และระบบ Automation มาทำงานอันตรายแทนมนุษย์ และใช้เอไอมาช่วยทำงานที่อาศัยความละเอียด เช่น การนำเอไอมาใช้ในงานประเภท Quality Control เพื่อให้ตรวจสอบคุณภาพสินค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
2. การคาดการณ์ความต้องการ (Demand Planning) ในอุตสาหกรรมทำได้ยากกว่าเดิม
ในอุตสาหกรรมการผลิต เราจำเป็นต้องคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าเพื่อนำมาวางแผนการผลิตสินค้า จัดสรรทรัพยากร และกำหนดจำนวนที่ต้องผลิต รวมไปถึงจัดการระบบ Supply Chain โดยจะต้องคาดการณ์จากหลากหลายปัจจัย เช่น สภาพอากาศและความนิยมสินค้าตามฤดูกาล (Seasonal Product) กลุ่มลูกค้า ทำเลที่ตั้งของร้าน หรือเทรนด์ในตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากในปัจจุบัน ดังนั้นการคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าจึงเป็นความท้าทายใหม่ที่หลายอุตสาหกรรมกำลังประสบ
การคาดการณ์ที่ไม่แม่นยำพออาจส่งผลกระทบในหลายด้าน อาทิ การจัดสรรทรัพยากร (Resource Allocation) เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าได้แม่นยำ ทำให้กระทบต่อกระบวนการผลิต อาจถึงขั้นที่ทำให้การผลิตต้องหยุดชะงัก การจัดการคลังสินค้า (Inventory Management) เนื่องจากเมื่อไม่มีการคาดการณ์ที่แม่นยำ ก็ไม่สามารถวางแผนสต๊อกสินค้าได้อย่างเหมาะสม อาจเกิดต้นทุนจากสินค้าค้างสต๊อกหรือเสียรายได้จากสินค้าขาดสต๊อก
เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร?
ด้วยความสามารถในการประมวลผลข้อมูลมหาศาล ทำให้เอไอโดดเด่นมากในงานด้านการคำนวณคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคตจากข้อมูล การนำเอไอมาทำ Demand Planning ช่วยคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าและวางแผนการผลิต ด้วยการเก็บข้อมูลปัจจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องแบบเรียลไทม์ จะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจได้อย่างรอบคอบมากขึ้น และก้าวทันความต้องการของลูกค้า สามารถปรับตัวได้ทันต่อทุกความเปลี่ยนแปลง
3. การวางแผนการผลิตที่ท้าทายกว่าเดิม (Production Planning)
การวางแผนการผลิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับโรงงานและอุตสาหกรรมการผลิต การผลิตที่มากเกินไปในเวลาที่ไม่เหมาะสมอาจหมายถึงสินค้ามีปริมาณมากเกินความต้องการ (Overstock) แต่การผลิตที่น้อยเกินไปก็อาจทำให้เสียโอกาสในการขาย
ดังนั้นการวางแผนการผลิตให้ตรงตามความต้องการและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกอุตสาหกรรมควรคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่โลกของเราเชื่อมต่อถึงกัน รับส่งข้อมูลและข่าวสารกันได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อาจเกิดสินค้าที่เป็นเทรนด์ใหม่ ๆ ขึ้นมาได้อย่างฉับพลัน และสินค้าบางชนิดก็อาจได้รับความนิยมขึ้นมาจากการเป็นไวรัล (Viral) ในชั่วข้ามคืน ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อนหน้านี้ การวางแผนการผลิตจึงต้องพร้อมรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ที่ไม่คาดฝันเช่นนี้ด้วย
ปัญหาที่พบเจอเกี่ยวกับการวางแผนการผลิต อาทิ การคาดการณ์ที่ไม่แม่นยำ ทำให้ผลิตมากหรือน้อยเกินไป การไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้แบบเรียลไทม์ เช่น ในเรื่องเทรนด์ตลาด ข้อมูลสินค้าคงคลังและสถานการณ์ของซัพพลายเออร์ ทำให้ปรับแผนการผลิตไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง อาจทำให้การผลิตเกิดความล่าช้าหรือต้องหยุดชะงักลง และกำลังในการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เช่น ในช่วงที่สินค้าได้รับความนิยมสูงขึ้นมาฉับพลัน การใช้แรงงานคนในการผลิตเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามที่ต้องการ หรือในกรณีของการเกิดเหตุฉุกเฉิน จึงผลิตได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เหตุการณ์เหล่านี้อาจเพิ่มความท้าทายในการวางแผนการผลิต ทำให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ไม่ทันท่วงที
เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร?
เราสามารถใช้เอไอเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทรัพยากร ข้อมูลความต้องการสินค้า เทรนด์ตลาดแบบเรียลไทม์ และข้อมูลระดับสต๊อกสินค้า เพื่อช่วยวางแผนการผลิต เช่น จัดตารางการผลิต (Production Scheduling) และจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม โดยเอไอสามารถปรับแผนการผลิตได้แบบเรียลไทม์ ทำให้เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงก็สามารถรับมือได้ทัน
4. ระบบ Supply Chain ที่จัดการดูแลยาก
ระบบ Supply Chain นั้นครอบคลุมตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบผ่านกระบวนการผลิต ไปจนถึงการขนส่งและกระจายสินค้าออกสู่มือผู้บริโภค ถือเป็นระบบที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนสำคัญในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ การบริหารจัดการ Supply Chain ให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากเช่นเดียวกัน
การจัดการ Supply Chain อาจติดขัดได้ตั้งแต่ การติดต่อซื้อขายกับซัพพลายเออร์ ทำให้ได้วัตถุดิบในการผลิตล่าช้า หรือได้วัตถุดิบที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลต่อตารางเวลาการผลิตและคุณภาพสินค้า ปัญหาในการขนส่ง เช่น ยานพาหนะไม่เพียงพอ หรือจัดการโกดังสินค้าได้ไม่ดี ทำให้เกิดต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และขนส่งล่าช้า ไปจนถึงเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างภัยธรรมชาติ สภาพอากาศหรือสภาพการจราจรที่ไม่เอื้ออำนวย ก็อาจส่งผลกระทบต่อการจัดการ Supply Chain ได้เช่นเดียวกัน ทำให้ท้ายที่สุดเกิดปัญหาที่สินค้าไม่สามารถส่งถึงมือลูกค้าได้เพียงพอต่อความต้องการ หรือปรับตัวตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไม่ทัน และเสียโอกาสในการขายในท้ายที่สุด
เราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร?
โซลูชัน Supply Chain Optimization โดยเอไอสามารถช่วยวิเคราะห์ระบบ Supply Chain ตั้งแต่สถานการณ์วัตถุดิบและซัพพลายเออร์ จำนวนสต๊อกในคลังสินค้า การขนส่ง และการวางแผนการผลิต เพื่อมองหาจุดที่สามารถพัฒนาเพิ่มเติม ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการระบบ Supply Chain และช่วยให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าที่สุด พร้อมทั้งเตรียมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงได้แบบเรียลไทม์
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านดาต้าและเอไออย่างเต็มกำลังคือทางออกสำคัญที่อุตสาหกรรมการผลิตไม่ควรมองข้าม เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ พร้อมทั้งยกระดับการปฏิบัติงานและลดภาระงานให้แรงงานคนได้ไปมุ่งเน้นงานที่สร้างคุณค่าได้อย่างแท้จริง
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวอย่างโซลูชันเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตจากเซอร์ทิสได้ที่: https://www.sertiscorp.com/ai-manufacturing
Comments