ในทศวรรษที่ผ่านมานี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเอไอได้ค่อย ๆ เปลี่ยนโลกของการแพทย์ไปทีละนิด และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยทุ่นแรงแพทย์และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
อัลกอริธึมของเอไอที่สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำขึ้น เอไอสามารถช่วยมนุษย์คิดค้นยาใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นยาแบบ Personalised ที่นำเอาประวัติทางการรักษา ข้อมูลทางร่างกาย พฤติกรรม สภาพแวดล้อมมาคิดคำนวณเพื่อสร้างยาใหม่ หรือแม้แต่คาดเดาไว้ก่อนได้เลยว่าคนคนนี้อาจป่วยเป็นโรคอะไรจากพฤติกรรม และให้ยาป้องกันไว้ และล่าสุดเทคโนโลยีใหม่ของ Facebook AI ที่ใช้เอไอจับคู่ยาหลายล้านชนิดบนโลก กำหนดปริมาณอย่างแม่นยำ และสร้างยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมได้
แค่ตัวอย่างที่ยกมานี้ก็เห็นกันแล้วใช่มั้ยล่ะครับว่าเอไอจะเปลี่ยนวงการแพทย์ไปได้มากแค่ไหน และช่วยรักษาชีวิตคนไว้ได้อีกมากเท่าไหร่ วันนี้ Sertis เลยอยากพาทุกคนมารู้จักกับอีก 4 เทคโนโลยีล้ำของการใช้เอไอกับการแพทย์ที่เป็นความหวังใหม่ให้เรา
AI เชื่อมสมองคนไข้กับเครื่องจักร คืนความสามารถให้ผู้ป่วยอัมพาต เทคโนโลยี Brain-computer Interface (BCI) คือเทคโนโลยีที่บูมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายคนอาจรู้จักเทคโนโลยีนี้จากข่าวที่เป็นที่ฮือฮากันไปเมื่อต้นปี เมื่ออีลอน มักส์ (Elon Musk) สามารถทดลองให้ลิงเล่นวิดีโอเกมด้วยสมองได้สำเร็จ สรุปง่าย ๆ เทคโนโลยี BCI คือการเชื่อมต่อสมองของเราเข้ากับเครื่องจักร ทำให้เราสามารถควบคุมและสั่งการเครื่องจักรผ่านความคิดได้ ซึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้คือสามารถช่วยคืนความสามารถให้ผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถในการพูด หรือเคลื่อนไหวเนื่องจากความผิดปกติของระบบประสาท ทำให้ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ หากเราสามารถใช้เทคโนโลยี BC มาช่วยให้ผู้ป่วยสั่งการได้ผ่านสมองและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นทางเครื่องจักร เช่นสั่งการทางสมองให้เครื่องจักรพิมพ์ข้อความเพื่อสื่อสาร ก็เท่ากับว่าเราสามารถช่วยฟื้นคืนความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยที่เกือบจะหมดหวังได้ แม้แนวคิดนี้จะมีมานานหลายปีแล้ว แต่การสร้างอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อสมองกับเครื่องจักรโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านการควบคุมนั้นยังเป็นเรื่องใหม่มาก แต่ตอนนี้เทคโนโลยีของเราใกล้ถึงฝั่งฝันแล้ว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวน์ได้สาธิตการใช้อุปกรณ์ไร้สายที่สามารถรับส่งข้อมูลจำนวนมากระหว่างสมองกับเครื่องจักรได้ ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญมากในการพัฒนาอุปกรณ์ BCI ที่สามารถปลูกถ่ายลงในร่างกายมนุษย์ได้ ซึ่งนี่นับว่าเป็นอุปกรณ์แบบไร้สายเครื่องแรกที่ผลิตได้สำเร็จ ซึ่งผู้ร่วมสาธิตในครั้งนี้เป็นคนไข้ที่มีภาวะแขนขาอ่อนแรงและอัมพาต การใช้เทคโนโลยี BCI ทำให้สมองสามารถส่งสัญญาณต่าง ๆ ไปที่เครื่องจักรได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว โดยตัวเซนเซอร์ที่ได้รับการติดตั้งไว้บริเวณหัว จะรับสัญญาณจากขั้วอิเล็กโทรดที่อยู่ในสมองส่วนคอร์เท็กซ์ ซึ่งผลการทดลองพบว่าผู้ทดลองสามารถสั่งการจากสมองในการชี้เคอร์เซอร์ คลิก และพิมพ์บนแท็บเล็ตได้
AI ช่วยวินิจฉัยโรคได้ผ่านภาพเซลฟี่
ทุกวันนี้นอกจากสมาร์ทโฟนในมือเราจะล้ำขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว กล้องของสมาร์ทโฟนนั้นก็มีคุณภาพที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ซึ่งเหล่านักวิจัยก็เห็นประโยชน์จากภาพเซลฟีที่เราถ่ายผ่านกล้องเหล่านี้ จึงคิดค้นวิธีนำเอไอมาช่วยวิเคราะห์โรคต่าง ๆ จากภาพเซลฟีของเรา
แน่นอนว่าด้วยความชัดของกล้อง การวินิจฉัยโรคทางด้านผิวหนังและดวงตานั้นสามารถใช้เอไอมาช่วยวินิจฉัยผ่านรูปภาพได้ไม่ยากแน่นอน แต่ล่าสุดนี้ได้เกิดความหวังใหม่ในการสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจผ่านภาพเซลล์ฟีได้ โดยจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์บน European Heart Journal แสดงให้เห็นว่าเขาสามารถใช้โมเดลดีพเลิร์นนิงในการตรวจจับสัญญาณของโรคประเภทที่เกิดจากหลอดเลือดแดงโคโรนารีที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบตันได้ ซึ่งโรคหัวใจก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยใช้โมเดลแบบ convolutional neural network model และเทรนให้โมเดลสามารถตรวจจับสัญญาณของโรคที่แสดงออกมาผ่านใบหน้าของผู้ป่วย เช่น ตีนกา ผมหงอก คอเลสเตอรอลที่แสดงให้เห็นบนผิวหนังรอบดวงตา เป็นต้น โดยใช้ข้อมูลจากผู้ป่วยกว่า 5,796 คนในการเทรนโมเดล ซึ่งผลการทดลองพบว่าโมเดลสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำถึง 50 เปอร์เซ็นต์
เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้กระบวนการวินิจฉัยโรครวดเร็วขึ้น และทำการรักษาได้ทันท่วงที แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล หรือผู้ป่วยด้อยโอกาสมีได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงขึ้น เนื่องจากแค่ส่งรูปเซลฟีมาให้หมอก็เพียงพอแล้ว
AI ควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัด พร้อมสร้างเทคโนโลยีผ่าตัดทางไกล
การรักษาทางไกลเป็นสิ่งที่วงการแพทย์และเทคโนโลยีพัฒนากันมานาน แต่การเข้ามาของวิกฤติโควิด-19 นั้นเป็นตัวเร่งชั้นดีที่ทำให้วงการแพทย์ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ใช้งานได้จริง เพราะโรคระบาดทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนอย่างหนัก และการสัมผัสทางกายหรือเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลก็เป็นเรื่องที่เสี่ยง และแน่นอนว่าเทคโนโลยีที่โตตามกันมาคือการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด และการผ่าตัดทางไกลซึ่งคงจะได้เห็นกันชินตาในเร็ว ๆ นี้
ก่อนหน้านี้หุ่นยนต์ผ่าตัดที่ใช้กันในท้องตลาดมักเรียนรู้จากข้อมูลรูปภาพทางการแพทย์ แต่เมื่อเกิดปัญหาระหว่างผ่าตัดขึ้นมา หุ่นยนต์เหล่านี้ก็แทบจะช่วยอะไรไม่ได้เลย FAROS คือหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่กำลังพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีประสาทสัมผัสที่เหมือนคน โดยพัฒนาให้หุ่นยนต์สามารถมองเห็น ได้ยิน รู้สึก และเคลื่อนไหวได้เทียบเท่าหรืออาจจะเหนือกว่าความสามารถของแพทย์ที่ทำการผ่าตัด หุ่นยนต์จะได้รับการติดตั้งเซนเซอร์ที่ช่วยให้มีความสามารถด้านประสาทสัมผัส และใช้เอไอในการควบคุมให้เรียนรู้พฤติกรรม วิธีการ และแนวคิดของแพทย์ผ่าตัดได้แบบอัตโนมัติ ทำให้หุ่นยนต์สามารถประเมินสถานการณ์และทำการผ่าตัดได้อัตโนมัติ ถือเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดรุ่นต่อไปที่จะทำหน้าที่เหมือนหมอคนหนึ่งได้เลย
หากยังไม่อยากใช้หุ่นยนต์แทนทั้งหมด เทรนด์การทำการผ่าตัดทางไกลโดยแพทย์เป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์ก็เป็นสิ่งที่ทำได้แล้วผ่านการใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) หรือผ่านกล้องสามมิติ และควบคุมหุ่นยนต์ให้ผ่านตัดเสมือนตัวแพทย์อยู่ที่นั่นเอง การพัฒนาของสัญญาณ 5G นั้นสามารถช่วยลดปัญหาเรื่องความล่าช้าหรือสัญญาณที่สะดุดได้ จึงนับว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีหวังมาก นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการผ่าตัดช่วงที่บุคลากรขาดแคลนแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้กับคนในพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย
AI ควบคุมพันธุกรรม อาจปรับแต่งคนได้แบบเครื่องจักร
การรักษาและปรับแต่งทางพันธุกรรมนั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีในการรักษาโรคทางพันธุกรรม และโรคที่รักษาหายยากอย่างเช่น มะเร็ง การเข้ามาของเอไอช่วยให้การปรับแต่งและรักษาความผิดปกติของพันธุกรรมทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเอไอจะเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลดีเอ็นเอของผู้ป่วย ตรวจหาความผิดปกติที่ก่อให้เกิดโรคในระดับพันธุกรรม และคาดการณ์โรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทำเองได้ยากและช้ามากหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเอไอ
และหากวิเคราะห์และคาดการณ์ได้แม่นยำ เราก็สามารถรักษาโรคต่าง ๆ โดยการแปลงยีน ถ่ายยีนเข้าไปในเซลล์ หรือแม้แต่เอายีนที่มีปัญหาออก หรือที่เรียกว่าการดัดแปลงพันธุกรรม
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Google และ U.S. Biotech Dyno Therapeutics ได้ร่วมกันพัฒนาวิธีในการใส่ไวรัส adeno-associated viral (AAV) ข้าไปในเซลล์เพื่อรักษายีนที่ผิดปกติ ไวรัสนี้เป็นไวรัสที่ไม่ก่อโรค ในทางกลับกันช่วยรักษาโรคได้ ทีมนักวิจัยได้ใช้เอไอในการสร้างและตัดแต่งไวรัสนี้ ทำให้ไวรัสใช้งานได้ และเลี่ยงการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์
หน้าที่หลักของเอไอคือการทำให้การคาดการณ์ยีนที่ผิดปกติ และการปรับแต่งยีนทำได้แม่นยำมากขึ้น เพื่อให้การรักษาโรคด้วยการปรับแต่งยีนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่คำถามหลักคือ หากการปรับแต่งยีนทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะสามารถปรับแต่งให้เป็นไปตามใจ ป้องกันทุกโรคที่จะเกิด ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้ทำเพื่อการรักษาโรค แต่อาจทำเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสมก็เป็นไปได้ และหากเราปรับแต่งร่างกายเราได้เหมือนเครื่องจักร แล้วความเป็นมนุษย์ตามวัฏจักรธรรมชาติของเรายังคงมีอยู่ไหม นี่คือคำถามที่น่าจับตามอง
Comentarios