top of page
รูปภาพนักเขียนAnantaya Pornwichianwong

เอไอโซลูชัน Optimization ปลดล็อกศักยภาพในอุตสาหกรรมการผลิต



อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคน และเป็นน้ำหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจทั่วโลก เราจึงต้องพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตให้เติบโตและมีประสิทธิภาพเท่าทันการเปลี่ยนแปลง


ในบทความที่แล้ว เราได้รู้จักกับโซลูชัน AI Demand Forecasting ที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตรับมือกับความท้าทายในโลกที่ผันผวน (อ่านบทความ AI Demand Forecasting รับมือปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิต) สำหรับบทความนี้ เราจะพาผู้อ่านไปรู้จักหนึ่งในเอไอโซลูชันที่เรียกว่า Optimization ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กระบวนการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อให้สามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง และสร้างมูลค่าที่ช่วยให้ยกระดับให้ธุรกิจเติบโตได้


ไปทำความรู้จักโซลูชัน Optimization สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต และประโยชน์ในหลากหลายมิติกันในบทความนี้เลย


Optimization คืออะไร?


การทำ Optimization คือกระบวนการในการหาวิธีที่ดีที่สุดในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกเรื่องตั้งแต่ชีวิตประจำวันไปจนถึงการทำงาน ในแง่ของการทำงานนั้น Optimization ก็จะหมายถึงกระบวนการวิเคราะห์หาแนวทางปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ เช่น แผนงานและกลยุทธ์ ขั้นตอนการทำงาน หรือแนวทางในการทำงาน เพื่อหาวิธีที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพหรือได้ผลประโยชน์สูงสุดภายใต้ข้อจำกัดในสถานการณ์นั้น ๆ (Constraint)



โซลูชัน Optimization เพื่ออุตสาหกรรมการผลิต


การสร้างเอไอโซลูชันด้าน Optimization ที่ใช้กันในอุตสาหกรรมการผลิตนั้น เป็นการผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลและเทคโนโลยีเอไอ เพื่อพัฒนาโมเดลแมชชีนเลิร์นนิงมาช่วยวิเคราะห์หาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับกระบวนการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม


โดยเอไอสามารถวิเคราะห์ได้อย่างละเอียด แม่นยำ รวดเร็ว และทำได้อัตโนมัติ ดังนั้นไม่ว่าปัญหาจะซับซ้อนแค่ไหนก็สามารถหาทางออกได้


โดยการทำ Optimization ด้วยเอไอนั้น ช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตสามารถหาแนวทางที่จะช่วยพัฒนาสถานการณ์ในปัจจุบันให้ดีกว่าเดิมในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ลดต้นทุนโดยรวม เนื่องจากการทำ Optimization จะช่วยให้เรามองเห็นต้นทุนส่วนเกิน วัตถุดิบส่วนเกิน หรือกระบวนการที่ซับซ้อนกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้สามารถลดต้นทุนในส่วนนั้น และเพิ่มกำไรให้ธุรกิจได้ในท้ายที่สุด รวมไปถึงยัง เพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิต เนื่องจากการใช้เอไอเข้ามาช่วยทำ Optimization และวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตแบบเรียลไทม์ ช่วยให้มองเห็นสถานการณ์ สามารถปรับแผนการผลิตได้อย่างรวดเร็วเพื่อรับมือต่อความผันผวนในตลาดได้ และสามารถปรับแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้ตลอดเวลา ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการโดยรวม และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าขึ้นนั่นเอง



ขั้นตอนหลักของการทำ Optimization

1. ระบุเป้าหมายของการทำ Optimization (Objective Function) เช่น ต้องการเพิ่มกำลังการผลิต ลดจำนวนสินค้าที่มีตำหนิ หรือลดต้นทุนในการผลิต โดยควรระบุให้ละเอียด เฉพาะเจาะจง และสามารถติดตามผลได้


2. เก็บข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง (Business Constraints) เพื่อทำความเข้าใจภาพรวมของกระบวนการที่เราต้องการพัฒนา เช่น ข้อมูลประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร ปริมาณการผลิต หรือข้อมูลแนวทางการควบคุมคุณภาพ เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยีด้านข้อมูล และ Internet of Things (IoT) เพื่อเชื่อมต่อเครื่องจักรเข้ากับระบบเก็บข้อมูล ช่วยให้เก็บข้อมูลได้อย่างละเอียดครบถ้วน


3. ระบุตัวแปรที่ต้องตัดสินใจ (Decision Variables) โดยเป็นการระบุตัวแปรในกระบวนการ ที่เราสามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนได้ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เราสามารถปรับปรุงกระบวนการและผลลัพธ์ให้ออกมาดีที่สุดตามเป้าหมายของเรา


4. หาสาเหตุของปัญหาและช่องว่างที่พัฒนาได้ โดยการจำลองกระบวนการทำงาน (Process Mapping) เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทั้งหมด และวิเคราะห์กระบวนการต่างๆ โดยใช้วิธีทางสถิติ หรือโมเดลแมชชีนเลิร์นนิง เพื่อหาช่องว่างในกระบวนการที่สามารถพัฒนาได้ (Areas of Improvement) เช่น การลดเวลาของ Cycle Time ปรับปรุงการจัดสรรทรัพยากร หรือแก้ไขแนวทางการควบคุมคุณภาพ เป็นต้น


5. ออกแบบแผนการ Optimization โดยการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเดิม อัปเกรดเทคโนโลยีที่ใช้ให้ดีขึ้น หรือใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วย จากนั้นจึงจำลองกระบวนการรูปแบบใหม่ที่มีแนวโน้มจะแก้ปัญหาได้ และทดสอบเสมือนจริงภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพ


6. ตรวจสอบและติดตามผลการทำงานอยู่เสมอ โดยใช้เทคโนโลยีเอไอเข้ามาช่วยติดตามผลการทำงานและเก็บข้อมูล เพื่อที่เมื่อเจอปัญหาหรือจุดที่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมจะได้ปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้



ตัวอย่างของการใช้ Optimization ในอุตสาหกรรมการผลิต


1. การจัดตารางการผลิต (Production Scheduling)

วิเคราะห์หาตารางการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ เช่น สถานการณ์ในโรงงาน กรอบเวลา และต้นทุนการผลิต ช่วยลดโอกาสการหยุดชะงักของการผลิต (Downtime) ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และสามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอได้


2. การวางแผนการผลิต (Production Planning)

วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดในกระบวนการ รวมถึงคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า เพื่อวางแผนและกำหนดจำนวนการผลิตที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละครั้ง เพื่อให้ผลิตได้รวดเร็ว พร้อมวางมาตรฐานคุณภาพสินค้าอย่างเหมาะสม และออกแบบแนวทางควบคุมคุณภาพที่ดีที่สุด


3. การจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management)

วิเคราะห์หาแนวทางการจัดวางสินค้าเพื่อใช้พื้นที่ในคลังให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงวางแผนการจัดวางและแยกประเภทสินค้าชนิดต่าง ๆ ให้ประหยัดเวลาในการจัดเก็บและดึงสินค้าออกจากคลัง


4. การขนส่งสินค้า (Logistic Management)

วางแผนการขนส่งสินค้าให้รวดเร็วและประหยัดต้นทุนได้มากกว่าเดิม ด้วยการวิเคราะห์หาแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการรวบรวมสินค้า (Consolidation) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย การจัดวางในคาร์โก้ จัดตารางการเดินรถ เลือกยานพาหนะในการจัดส่ง การเลือกเส้นทางที่ประหยัดค่าใช้จ่าย หรือใช้เวลาสั้นลง


เซอร์ทิสคือผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาโซลูชันเอไอและดาต้าเพื่ออุตสาหกรรมการผลิต และความสำเร็จของลูกค้าคือเป้าหมายหลักของเรา เราพร้อมทำงานใกล้ชิดกับลูกค้าเพื่อสร้างโซลูชัน Optimization ที่ตอบโจทย์ทุกข้อจำกัดของธุรกิจ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดต้นทุน สร้างกำไร นำไปสู่ความก้าวหน้าและการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ธุรกิจของคุณ


เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชัน Optimization และโซลูชันเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ จากเซอร์ทิสได้ที่: https://www.sertiscorp.com/ai-manufacturing



Comments


bottom of page