หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจบทบาทของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่อยู่เบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัล NFT กันไปแล้ว บทความนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับระบบการเงินแบบใหม่ที่เกิดขึ้นได้จากเทคโนโลยีบล็อกเชนเช่นกัน และเป็นสิ่งที่โลกควรจับตามอง
‘DeFi’ หรือ ‘Decentralised Finance’ มีความหมายในภาษาไทยว่า ‘ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง’ DeFi คืออะไรและมีวิธีการทำงานอย่างไร? ไปทำความรู้จักกับระบบการเงินที่จะพลิกโลกอนาคตกันครับ
DeFi คือระบบการเงินที่ตัด ‘ตัวกลาง’ ออก กล่าวคือ ระบบการเงินแบบดั้งเดิมที่เราใช้กันนั้น เรียกว่า Centralised Finance ซึ่งเป็นระบบที่รวมศูนย์การทำธุรกรรมไว้ที่ตัวกลางอันได้แก่ ธนาคาร ซึ่งจะเป็นผู้จัดการธุรกรรมทางการเงิน เช่น ฝาก ถอน กู้ยืม แลกเปลี่ยนให้เรา การมีตัวกลางที่เป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือจะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าธุรกรรมของเราจะสำเร็จลุล่วงและไม่ถูกฉ้อโกง
การตัดตัวกลางอย่างธนาคารออกไปนั้น หมายความว่าเราจะสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งธนาคาร ดังนั้นคำถามที่หลาย ๆ คนอาจกำลังสงสัยคือ หากตัดตัวกลางที่สร้างความน่าเชื่อถือออกไป เราจะวางใจในระบบ DeFi ได้หรือ? และนี่คือจุดที่บล็อกเชนก้าวเข้ามาเป็นพระเอก ดังที่เคยพูดถึงกันไปแล้วว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้น โดดเด่นที่สุดเรื่องความโปร่งใส กิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่กระทำบนระบบบล็อกเชนจะถูกบันทึกข้อมูลลงในบล็อกเชนทันที ทำให้ไม่สามารถบิดเบือนหรือแก้ไขข้อมูลได้ นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวจะถูกกระจายไปเก็บไว้ตามคอมพิวเตอร์ของผู้ที่อยู่ในเครือข่าย หากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ต้องทำในเครื่องของทุกคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากเครือข่ายนั้นใหญ่พอ
สำหรับระบบ DeFi นั้น ในทุก ๆ การทำธุรกรรมจะมีการเขียนโค้ดที่เรียกว่า Smart Contract ลงในบล็อกเชน Smart Contract จะประกอบไปด้วยรายละเอียดของธุรกรรมที่เราทำ เช่น โอนเงินเป็นจำนวนเท่าไร จากใคร และให้ใคร เมื่อระบบบล็อกเชนบันทึกข้อมูลแล้ว จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีก ด้วยเหตุนี้ ระบบ DeFi จึงเชื่อถือได้ในระดับที่แทบจะเทียบเท่ากับระบบธนาคารแบบดั้งเดิมเลยทีเดียว ตัวอย่างของการใช้งาน DeFi ที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตต่าง ๆ ที่กระทำบนบล็อกเชน ไม่มีตัวกลางเป็นสถาบันการเงิน จะมองว่าเงินคริปโตคือ DeFi รูปแบบหนึ่งก็ว่าได้ ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มทำธุรกรรมแบบไร้ตัวกลางมากมายที่สร้างขึ้นจากแนวคิดของ DeFi แต่ละแพลตฟอร์มก็จะให้บริการที่แตกต่างกันไป MarketDao และ Compound ให้บริการกู้ยืมเงิน Uniswap และ Kyber ให้บริการแลกเปลี่ยนคริปโตแบบไร้ตัวกลาง เป็นต้น
ระบบ DeFi สร้างขึ้นหลังจากการเกิดขึ้นของบิตคอยน์ หนึ่งในสกุลเงินคริปโตที่ก็ดำเนินการบนระบบบล็อกเชนเช่นกัน นักพัฒนากลุ่มหนึ่งเห็นว่าบล็อกเชนสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีกหลายด้านนอกเหนือจากแค่การสร้างสกุลเงินคริปโต พวกเขาจึงร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มบล็อกเชนแบบเปิด (Open Source) ที่ให้นักพัฒนาคนอื่น ๆ นำแพลตฟอร์มไปต่อยอดได้ จากนั้นพวกเขาได้เล็งเห็นโอกาสในการสร้างระบบการเงินที่ไม่ต้องมีตัวกลางด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน จึงเป็นที่มาของ DeFi นั่นเอง
ข้อดีที่เห็นได้ชัดของ DeFi คือ เมื่อไม่มีตัวกลาง เราก็สามารถทำธุรกรรมได้อย่างอิสระทั่วโลก สามารถลดระยะเวลาและต้นทุนในการทำธุรกรรมเนื่องจากใช้ระบบอัตโนมัติควบคุมทุกขั้นตอน และยังตรวจสอบความโปร่งใสได้มากกว่าเดิมอีกด้วย อย่างไรก็ตามข้อเสียนั้นยังมีอยู่บ้าง เนื่องจากเมื่อไม่มีตัวกลางที่คอยควบคุม การทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายก็ง่ายขึ้น และหากมีการเขียนโค้ด Smart Contract ที่มีช่องโหว่
ก็อาจทำให้เกิดการยักยอกเงินอย่างในกรณีของแพลตฟอร์ม Defi100 ที่ผ่านมาได้ เพราะฉะนั้นก่อนจะเข้าไปลงเล่นในสนามการลงทุนและการทำธุรกรรมแบบดิจิทัลใด ๆ ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบเพื่อลดความเสี่ยง หากสามารถป้องกันความเสี่ยงข้างต้นได้ ระบบการเงินแบบ DeFi ก็ถือเป็นความหวังและโอกาสที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในโลกไร้พรมแดนแห่งอนาคต
Comments