ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็ต้องเข้า “เว็บ” กันทั้งนั้น เพราะมันคือช่องทางสำคัญที่ทำให้เราเอ็นจอยกับโลกอินเตอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะเข้าเพื่อค้นหาข้อมูล เล่นโซเชียลมีเดีย อ่านข่าวออนไลน์ หรือดูซีรีส์ผ่านสตรีมมิ่งเจ้าดัง แต่เคยสงสัยไหมว่าเว็บไซต์ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เริ่มต้นจากอะไรและพัฒนามาไกลแค่ไหนแล้ว?
จากจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตในยุค Web 1.0 สู่ความคึกคักของ Web 2.0 ที่เราคุ้นเคยกันดี ตอนนี้โลกกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่า Web 3.0 ซึ่งมาพร้อมกับแนวคิดสุดล้ำที่หลายคนบอกว่าจะเปลี่ยนโฉมทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตไปเลย! ยุคพวกนี้คืออะไรกันแน่? และ Web 3.0 จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตของเราบ้าง? มาหาคำตอบในบทความนี้กัน
ก่อนจะถึง 3 เรามี 2 และ 1 มาก่อน
ก่อนอื่นเราจะพาไปรู้จักกับที่มาที่ไปของเว็บไซต์แต่ละยุคกันก่อน เพื่อให้ทราบว่าแต่ละยุคแตกต่างกันอย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ถึงได้มีการพัฒนาเรื่อย ๆ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด
Web 1.0
นี่คือยุคแรกของเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1990 ถึงต้นปี 2000 โดยมี Sir Tim Berners-Lee จากองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) เป็นผู้ริเริ่ม เขาสร้างเวิลด์ไวด์เว็บและเว็บไซต์แรกในโลกชื่อ info.cern.ch ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้งานและติดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์ โดยได้มีการออกแบบเทคโนโลยีที่เป็นองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง ซึ่งเป็นรากฐานของเว็บไซต์ได้แก่ HTML, URL และ HTTP เว็บไซต์ในยุคนี้เป็นแบบคงที่ (Static) และอ่านอย่างเดียว (Read-Only) ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถโต้ตอบหรือสร้างเนื้อหาเองได้ ข้อจำกัดของ Web 1.0 คือความเรียบง่ายและขาดการมีส่วนร่วม ทำให้ผู้ใช้งานมีลักษณะเป็นผู้รับข้อมูลอยู่ฝ่ายเดียว
Web 2.0
ยุคนี้เริ่มต้นในช่วงต้นปี 2000 และเป็นยุคที่เรากำลังใช้งานกันอยู่ จุดเด่นคือการเปลี่ยนจากเว็บไซต์แบบคงที่มาเป็นเว็บไซต์ที่มีการโต้ตอบและมีส่วนร่วม (Interactive) มากขึ้น ผู้ใช้งานสามารถสร้างเนื้อหา แสดงความคิดเห็น แชร์ และสร้างชุมชนออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ เช่น Facebook, YouTube, Twitter และ Instagram
เทคโนโลยีที่ทำให้ Web 2.0 เติบโตได้รวดเร็ว คือ AJAX และ JavaScript ซึ่งช่วยให้เว็บไซต์โหลดข้อมูลได้เร็วและตอบสนองต่อการใช้งานได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของ Web 2.0 คือการพึ่งพาคนกลางอย่างบริษัทเจ้าของโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์นั้น ๆ ทำให้ผู้ใช้งานมีข้อจำกัดในเรื่องการควบคุมข้อมูลของตนเองและอาจเสี่ยงต่อปัญหาความเป็นส่วนตัว
เข้าสู่ Web 3.0
หลังจากที่เราได้รู้จักกับ Web 1.0 และ Web 2.0 กันแล้ว ก็ถึงเวลาทำความรู้จักกับ Web 3.0 ซึ่งผู้คนเชื่อว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอินเตอร์เน็ตของเราไปอีกขั้น จุดเด่นสำคัญของยุคนี้คือ “การกระจายศูนย์ (Decentralization)” โดยการกระจายศูนย์นี้จะมาช่วยลดบทบาทของคนกลางและให้สิทธิ์ผู้ใช้งานในการควบคุมข้อมูลของตนเองมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี เช่น Blockchain, AI, Machine Learning หรือ Big Data เพื่อสร้างระบบที่โปร่งใสและปลอดภัย แม้ปัจจุบัน Web 3.0 นั้นยังไม่ได้กำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่ Sir Tim Berners-Lee ผู้คิดค้น Web 1.0 ได้กล่าวไว้ว่า Web 3.0 จะเป็น “Semantic Web” ซึ่งเป็นเว็บที่สามารถเชื่อมโยงและถ่ายโอนข้อมูลระหว่างมนุษย์และระบบได้โดยอัตโนมัติ ทำให้เทคโนโลยีสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำและสร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงมนุษย์กับเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์
จุดเด่นของ Web 3.0
การกระจายศูนย์ (Decentralization): ข้อมูลและบริการจะไม่ถูกควบคุมโดยหน่วยงานตัวกลาง แต่จะกระจายไปยังเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้ลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีหรือการควบคุมจากส่วนกลางได้
ความเป็นเจ้าของข้อมูล: ผู้ใช้จะมีสิทธิ์ควบคุมและเป็นเจ้าของข้อมูลของตนเอง ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มกลางที่อาจนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
ความโปร่งใสและความปลอดภัย: ด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain ข้อมูลจะถูกบันทึกอย่างโปร่งใสและไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้เพิ่มความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์
การทำงานร่วมกันของแอปพลิเคชัน: แอปพลิเคชันต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มกลาง
ความท้าทายในการใช้งาน Web 3.0
ความซับซ้อนในการใช้งาน: เทคโนโลยีใหม่ ๆ ใน Web 3.0 อาจทำให้ผู้ใช้บางกลุ่มเข้าถึงและใช้งานได้ยากกว่าเว็บไซต์ในยุคปัจจุบันและต้องใช้เวลาปรับตัว
ข้อจำกัดด้านความสามารถในการขยาย (Scalability): Web 3.0 ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของความสามารถในการขยาย ส่งผลให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ มีความล่าช้า
การเข้าถึงเทคโนโลยี: ปัจจุบันเทคโนโลยีที่สนับสนุนการสร้าง Web 3.0 ยังมีไม่มาก รวมถึงงบประมาณในการพัฒนาก็ยังมีไม่มากด้วยเช่นกัน
อนาคตของ Web 3.0
ในอนาคตหาก Web 3.0 ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการและแพร่หลาย มันจะเป็นก้าวสำคัญที่เปลี่ยนโฉมการใช้งานโลกอินเทอร์เน็ตของเราอย่างแน่นอน ด้วยการผสานเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Blockchain, AI, Machine Learning หรือ Big Data เข้ากับโครงสร้างที่กระจายศูนย์ ผู้ใช้งานจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ข้อมูลปลอดภัยขึ้น และสามารถควบคุมทรัพย์สินดิจิทัลของตัวเองได้อย่างเต็มที่
แม้จะมีความท้าทายให้ต้องปรับตัวอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า แต่ Web 3.0 ก็มีศักยภาพที่จะสร้างโลกดิจิทัลที่โปร่งใส เท่าเทียม และเปิดโอกาสให้ทุกคนใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างเสรี หากเรารู้จักฉลาดใช้เราก็จะสามารถวางรากฐานสำหรับอนาคตที่เทคโนโลยีและมนุษย์ทำงานร่วมกันอย่างลงตัวและยั่งยืนมากขึ้นได้
เรียนรู้เพิ่มเติมกับเซอร์ทิสและโซลูชันของเราได้ที่: https://www.sertiscorp.com/
Comments