top of page
รูปภาพนักเขียนAnantaya Pornwichianwong

Data-Driven Decision-Making ที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?



คำว่า Data-Driven Decision-Making (DDDM) เป็นคำที่พวกเราโดยเฉพาะคนในแวดวงธุรกิจคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และทุกคนเข้าใจกันดีว่าหมายถึงอะไร รวมถึงยังพอรู้ด้วยว่า Data-Driven Decision-Making หรือการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนั้นส่งผลดีต่อทั้งธุรกิจอย่างไร


แต่การตัดสินใจแบบ Data-Driven Decision-Making นั้นไม่ใช่เพียงแค่นำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจแล้วจบไป แต่ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เข้ามาตัดสินกันต่อว่า Data-Driven Decision-Making ของเรานั้นมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่


และน่าเสียดายที่ต้องบอกว่า หากการตัดสินใจของเราไม่ใช่ Data-Driven Decision-Making ที่ดี ก็อาจไม่ได้มีประโยชน์ต่อเรามากขนาดนั้น


วันนี้เซอร์ทิสชวนมาทำความเข้าใจว่า Data-Driven Decision-Making ที่แท้จริงคืออะไร? และอะไรคือคุณสมบัติของ Data-Driven Decision-Making ที่ดี ไปอ่านพร้อม ๆ กันเลยครับ



Data-Driven Decision-Making คืออะไร?


Data-Driven Decision-Making (DDDM) แปลเป็นไทยได้ว่า ‘การตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล’ หมายถึงกระบวนการในการใช้ข้อมูลที่เป็นความจริง ข้อมูลด้านตัวชี้วัดต่าง ๆ หรือข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่ได้จากการวิเคราะห์ ประกอบเป็นแนวทางในการชี้นำการตัดสินใจทางธุรกิจต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของธุรกิจ


หรืออธิบายง่าย ๆ คือการใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมมาเป็นวัตถุดิบในการทำการตัดสินใจ แทนการตัดสินใจจากแค่สมมติฐาน ประสบการณ์ หรือการคาดเดาเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง เหมาะกับสถานการณ์ และส่งผลดีต่อธุรกิจได้มากที่สุด


Data-Driven Decision-Making สำคัญอย่างไร?


การตัดสินใจโดยไม่ใช้ข้อมูล ก็เหมือนการเดินในเขาวงกตด้วยการคลำทางและเลี้ยวไปตามสัญชาตญาณด้วยหวังว่าจะหาทางออกได้ในที่สุด แต่การมีข้อมูลมาช่วยประกอบการตัดสินใจนั้น ก็เปรียบเสมือนการท่องเขาวงกตด้วยแผนที่พร้อมสรรพ ช่วยให้วางแผนเส้นทางและหาทางออกได้อย่างรวดเร็ว


เช่นเดียวกันกับธุรกิจ การตัดสินใจแบบ Data-Driven Decision-Making ก็คือการตัดสินใจโดยมีข้อมูลที่ผ่านการคัดกรอง วิเคราะห์ และคาดการณ์มาบนพื้นฐานของชุดข้อมูลที่เก็บจากสถานการณ์จริงในธุรกิจ มาทำหน้าที่เป็นแผนที่ช่วยนำทางให้เราพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายได้


  • ผลสำรวจจาก MIT Sloan เปิดเผยว่าองค์กรที่ใช้การตัดสินใจและการดำเนินงานแบบ Data-Driven Decision-Making ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าองค์กรคู่แข่ง 5 เปอร์เซ็นต์ และสร้างกำไรได้มากกว่าอีกถึง 6 เปอร์เซ็นต์

  • ผลสำรวจจาก PwC เผยว่าองค์กรที่ใช้ประโยชน์จากการตัดสินใจด้วยข้อมูล มีรายได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าองค์กรอื่น ๆ ราว 4 เปอร์เซ็นต์

  • ผลสำรวจจาก Analytics Insight แสดงให้เห็นว่าองค์กรที่ตัดสินใจจากข้อมูลนั้น ทำการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้เร็วกว่าองค์กรอื่น ๆ 2.5 เท่า



Data-Driven Decision-Making ที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?


  1. ข้อมูลที่ใช้ต้องมีคุณภาพ (Quality) โดยข้อมูลที่ใช้นำมาวิเคราะห์ และประกอบการตัดสินใจนั้นต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย และไม่มีอคติ เนื่องจากข้อมูลคือวัตถุดิบสำคัญในการทำการตัดสินใจ หากใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด

  2. ต้องทำการวิเคราะห์อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ (Accuracy) อีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้คุณภาพของข้อมูลเลย คือการใช้แนวทางการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ เลือกวิธีให้เหมาะสม และเหมาะกับข้อมูลที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทางสถิติไปจนถึงการใช้โมเดลเอไอเข้ามาช่วย การเลือกใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมหรือเรียบง่ายเกินไป อาจทำให้เราไม่สามารถสกัด Insight ที่มีประโยชน์อย่างแท้จริงออกมาได้

  3. บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าในใจข้อมูล (Data Literacy) โดยหมายถึงการเข้าใจธรรมชาติของข้อมูล สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างถูกวิธี และสามารถตีความจากข้อมูลได้ เพื่อให้ตัดสินใจจากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  4. บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจที่สอดคล้องในเรื่องของเป้าหมาย (Goal Alignment) โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องมีความเข้าใจที่สอดคล้องตรงกันในเรื่องของเป้าหมายและทิศทางขององค์กร เพื่อให้ทำการวิเคราะห์และตัดสินใจได้สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนำไปสู่ทิศทางการตัดสินใจที่สะเปะสะปะ ทำให้องค์กรไม่สามารถประสบความสำเร็จได้

  5. ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว (Quick Decision-Making) โดยการตัดสินใจจากข้อมูลที่ดีนั้น ต้องสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วกว่าการตัดสินใจแบบดั้งเดิม และใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจได้ เพื่อให้ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงในตลาดได้ทัน และสามารถใช้ข้อมูลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

  6. มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous Learning) การตัดสินใจจากข้อมูลที่ดีนั้น ต้องมีการวัดผล ประเมินผลลัพธ์ และหาจุดบกพร่องเพื่อพัฒนาการตัดสินใจครั้งต่อไปอยู่เสมอ เพื่อให้บรรลุประสิทธิภาพสูงสุดในการตัดสินใจได้

  7. มีความเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย (Ethics) การตัดสินใจจากข้อมูลที่ดีนั้นต้องตัดสินใจบนฐานของความเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย เคารพความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) และปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ไม่มีการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด

  8. ตัดสินใจโดยผู้เชี่ยวชาญ (Expertise) โดยนอกจากจะต้องตัดสินใจจากพื้นฐานของข้อมูลแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจควรเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ในสาขานั้น ๆ เป็นอย่างดี เพื่อให้มั่นใจในการตัดสินใจได้มากที่สุด



ตัวอย่างของการตัดสินใจแบบ Data-Driven Decision-Making ที่ดีและไม่ดี


ตัวอย่างการตัดสินใจที่ดี

  • ก่อนทำการตัดสินใจเรื่องการออกแบบและพัฒนาสินค้าใหม่ บริษัททำการวิจัยตลาดและทำความเข้าใจความชอบของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และปัญหาที่ลูกค้าเจอและต้องการแก้ไขอย่างละเอียด พร้อมวิเคราะห์ด้วยโมเดลเอไอที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนได้

  • สายการบินวิเคราะห์ข้อมูลการทำงานของชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องบิน การดูแลรักษา และการซ่อมบำรุง และใช้ผู้เชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุงมาช่วยทำการตัดสินใจเพื่อคาดการณ์เวลาที่ควรเข้าไปซ่อมแซมชิ้นส่วนนั้น ๆ ลดต้นทุนในการดูแลและลดโอกาสการขัดข้องที่กระทบตารางบิน


ตัวอย่างการตัดสินใจที่ไม่ดี

  • บริษัทขายรถยนต์พัฒนารถรุ่นใหม่ โดยอาศัยเพียงข้อมูลยอดขายในกลุ่มลูกค้าปัจจุบัน ไม่มีการคาดการณ์เทรนด์และแนวโน้มความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงวิธีในการวิเคราะห์ข้อมูลไม่เหมาะสมทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้สร้างยอดขายได้ไม่ดีเท่าที่ควร

  • โรงเรียนประเมินคุณครูโดยใช้ค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบของนักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้วิเคราะห์ครอบคลุมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ประสบการณ์ของคุณครู หรือการมีส่วนร่วมในห้องเรียนของนักเรียน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการประเมินไม่มีประสบการณ์ที่เพียงพอในแวดวงการศึกษา ทำให้ไม่สามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้ดีเท่าที่ควร


พอเข้าใจความหมายและคุณสมบัติของการตัดสินใจแบบ Data-Driven Decision-Making ที่ดีกันแล้วใช่มั้ยครับ? ใครอยากสำรวจต่อว่าองค์กรของเรามีการตัดสินใจและขับเคลื่อนด้วยข้อมูลแล้วหรือยัง สามารถศึกษาต่อได้ที่บทความ ‘Checklist 10 ข้อ ที่จะบอกได้ว่าองค์กรของคุณเป็น Data-Driven แล้วหรือยัง?’


เซอร์ทิสคือผู้ให้บริการโซลูชันด้านเอไอและดาต้า ที่ให้คำปรึกษาและออกแบบโซลูชันให้องค์กรที่อยากเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างเต็มกำลัง เราพร้อมเป็นพาร์ทเนอร์ที่จะพาธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จและสร้างมูลค่าจากข้อมูลได้อย่างยั่งยืน


เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชันจากเซอร์ทิสได้ที่: https://www.sertiscorp.com/th/solutions


Comments


bottom of page