top of page
รูปภาพนักเขียนSertis

ยกระดับการบริหาร จัดการโลจิสติกส์ให้คล่องตัว ด้วยข้อมูลและเอไอ



เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีเอไอไม่เพียงแต่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์และเป็นตัวช่วยเบอร์หนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมมากมาย รวมไปถึงด้านขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและเกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้นผ่านระบบอัตโนมัติ ในบทความนี้ผมจะพาไปเปิดโลกของเอไอที่ใช้ในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มความคล่องตัวให้กับการขนส่งสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ต้องอาศัยความรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย และสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต่างมองหาคงจะหนีไม่พ้นการบริหารจัดการที่มากด้วยประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่าการใช้กำลังคนเพียงอย่างเดียวคงจะไม่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของประสิทธิภาพ ข้อจำกัดเรื่องเวลา และความแม่นยำที่ต้องมีเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด เอไอจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะเข้ามาช่วยจัดการด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจร เริ่มจาก การจัดเรียงสินค้า ด้วยหุ่นยนต์จัดเรียงสินค้าอัตโนมัติ (Robotic Palletizer)​ ที่ทำหน้าที่ยกและลำเลียงสินค้าลงบนพาเลทหลายขนาด ทั้งน้ำหนักเบาไปจนถึงสินค้าที่มีน้ำหนักมากด้วยแขนกลอัจฉริยะ ในระยะเวลาที่รวดเร็ว และทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถัดมาคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดส่งสินค้า เอไอจะช่วยจัดหมวดหมู่การจัดส่งสินค้าในแต่ละประเภทที่ใกล้เคียงกันสำหรับคลังสินค้าที่มีสินค้าหลากหลายประเภท โดยใช้อัลกอริทึมเพื่อวิเคราะห์จำนวนสินค้าที่จะนำขึ้นรถขนสินค้า ช่วยเลือกยานพาหนะในการขนส่งที่เหมาะสมกับประเภทสินค้า ไปจนถึงการเลือกเส้นทางที่ใช้ส่งสินค้า ซึ่งจะมีการติดตามตำแหน่งการเดินทางของรถขนส่งในรูปแบบเรียลไทม์ด้วย GPS Tracking ผ่านอุปกรณ์ติดตามที่ติดตั้งไว้ที่รถขนส่งสินค้า สินค้า หรือเจ้าหน้าที่ขับรถ ทำให้สามารถคาดการณ์ระยะเวลาการขนส่งได้เป็นอย่างดี หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่มีรถขนส่งสินค้าเอง เอไอสามารถช่วยเลือกผู้บริการขนส่ง ให้เหมาะสมกับการส่งสินค้าแต่ละประเภทจากการวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะสินค้า เพื่อทำการตัดตัวเลือกประเภทรถที่ไม่เหมาะสมออก ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจ เป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออก ถัดมาคือ การคาดการณ์ความเสียหายของยานพาหนะและอุปกรณ์ จะช่วยป้องกันความเสียหายด้วยการแจ้งเตือนสถานะของรถขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติในคลังสินค้า (Automated Guided Vehicle) และอุปกรณ์ที่ใช้ในการลำเลียงสินค้า เพื่อทำการซ่อมแซมได้ทันท่วงที หรือแม้แต่ระบบการประเมินความเสี่ยงภายในคลังสินค้า ก่อนเกิดเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่ความเสียหายภายในคลังสินค้า ไม่ว่าจะต่อสินค้า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน หรือความเสียหายในกระบวนการทำงาน ด้วยการทำงานของ Computer Vision (CV) ในการประมวลภาพและวิดิโอจากกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจตราพื้นที่ปฏิบัติงานในการดูแลความปลอดภัยและความผิดปกติของการปฏิบัติงาน รวมไปถึงระบบจดจำใบหน้า เพื่อระบุตัวตนของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการเข้า-ออกพื้นที่ เป็นการรักษาความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินภายในคลังสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เหล่านี้จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องใช้เอไอมาเป็นตัวช่วยหลักในการบริหารจัดการแต่ละกระบวนการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เพราะนอกจากจะส่งผลโดยตรงในการช่วยผู้ประกอบการ ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม แม่นยำ เกิดเป็นกระบวนการจัดการที่ได้ประสิทธิภาพ ยังเป็นการช่วยลดจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียที่ไม่คาดคิด และยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการให้แตกต่างไปจากรูปแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ถือเป็นการลงทุนที่ส่งผลดีระยะยาวให้กับผู้ประกอบการในวงการโลจิสติกส์ได้อย่างยั่งยืน



Commentaires


bottom of page