การเรียนรู้เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆและนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถของประชากรในประเทศได้ หลายๆคนอาจคิดว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดทุกที่ ทุกเวลา โดยสถาบันครอบครัวสามารถเป็นแรงผลักดันในการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ให้กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนที่บ้าน (Homeschooling) หรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อให้เด็กรักการเรียนรู้ และต่อยอดทักษะการเรียนรู้ได้ในระยะยาว (Lifelong learning) ตลอดจนฝึกฝนทักษะให้เด็กสามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล โดยเฉพาะยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและสามารถช่วยตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ตลอดจนทำงานได้หลายอย่างใกล้เคียงกับมนุษย์ สิ่งที่ผู้ปกครองควรคำนึงถึงคือ ทำอย่างไรเด็กยุคใหม่จึงจะสามารถใช้ชีวิตกับเอไอได้อย่างรู้เท่าทัน และนำเอาประโยชน์ของเอไอมาพัฒนาหรือต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการมีจริยธรรม
คนในยุคนี้โตมากับโลกที่เอไอ อัลกอริทึม เลือกเนื้อหาให้เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นบน Youtube หรือ Facebook
ซึ่งส่งผลต่อต่อการเรียนรู้ของเด็ก การสอนให้เด็กเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้จะกระตุ้นทักษะการแก้ปัญหาและการคิดวิเคราะห์ ให้สามารถรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) รวมทั้งสามารถกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคตได้
Blakeley Payne นักศึกษาผู้ช่วยนักวิจัยที่ MIT Media Lab ได้ทดลองนำหลักสูตรการสอนเกี่ยวกับเอไอ ในด้านกระบวนการพัฒนา algorithm รวมทั้งผลกระทบกับชีวิตคนทั่วไปไปใช้สอนเด็กในช่วงวัย 9-14 ปี พบว่าหลักสูตรดังกล่าวสามารถปลูกฝังความคิดในเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการคิดแบบคำนวณ (Computational thinking) ให้แก่เด็กได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเด็กวัยนี้ที่กำลังเริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง (Identity formation and development) อีกทั้งการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีตั้งแต่วัยเด็ก เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และเกิดความสนใจ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวงการเอไอให้มีบุคลากรเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ หากเราปลูกฝังเรื่องจริยธรรมในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ก็จะสามารถสร้างประชากรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในอนาคตได้
ผมขอยกตัวอย่างทักษะที่ผู้ปกครองควรเรียนรู้และแนะนำให้กับเด็กๆ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับเอไอได้อย่างเหมาะสม ได้แก่
1. เรียนรู้ที่จะแยกแยะว่าสิ่งไหนเป็นความจริง ถูกสร้างขึ้น หรือเป็นเพียงความคิดเห็น (Fact vs Fake vs Opinion)
ในยุคของ Deepfake ที่วิดีโอถูกปลอมแปลงหรือตัดต่อไปเป็นบุคคลอื่น เราสามารถสังเกตสีผิวบนใบหน้าที่แตกต่างจากส่วนอื่นของร่างกาย (Face discolorations) แสงที่อาจไม่เข้ากับส่วนอื่นในวิดีโอ คำพูดกับการขยับปากที่ไม่สอดคล้องกัน ก็จะสามารถแยกแยะได้ว่าวิดีโอนั้นถูกปลอมแปลง หากเป็นด้านเนื้อหาต้องสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นความคิดเห็นหรือความจริงซึ่งมาจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ (ดูเพิ่มเติม information literacy)
2. ปลูกฝังแนวคิดที่มีต่อของเล่นจำพวกหุ่นยนต์หรือแชทบอท
ของเล่นในยุคนี้ มีลักษณะที่สามารถโต้ตอบได้ (Conversational interface) และในของเล่นบางชิ้นก็มีการใส่คาร์แรกเตอร์ (character) ให้กับของเล่นเพื่อให้เกิดความสมจริง สิ่งสำคัญสำหรับผู้ปกครองคือควรชี้แนะว่า มนุษย์เป็นคนสร้างสิ่งเหล่านี้และสอนให้มันฉลาด “มัน”เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น ฉะนั้นพยายามอย่าคิดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือผูกพันทางความรู้สึกมากจนเกินไป (emotional attachment) มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าของเล่นที่สามารถโต้ตอบได้ มีผลต่อพัฒนาการและการตัดสินใจของเด็ก ตลอดจนสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางด้านศีลธรรม ดังนั้นผู้ปกครองควรใส่ใจและปลูกฝังให้เด็กเข้าใจถึงเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้เอไอมีอิทธิพลต่อเด็กในทางที่ไม่เหมาะสม
3. สร้างทัศนะคติที่เหมาะสมในการใช้งานเอไอ
สนับสนุนให้เด็กทำความเข้าใจว่า หุ่นยนต์ หรือ เอไอทำงานอย่างไร รวมทั้งปลูกฝังแนวทางการออกแบบอย่างมีจริยธรรมให้เอไอ เช่น ถ้าเอไอเล่นเกมชนะควรทำตัวอย่างไร (แนวทางจริยธรรมเอไอ อ่านเพิ่มได้จากบทความนี้) รวมทั้งให้ตั้งข้อสงสัยกับข้อมูล ข่าวสารที่ได้รับจากบอทหรือหุ่นยนต์ว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด
4. ตั้งคำถามชวนคิด
อาจเริ่มด้วยการนำตัวอย่างวิดีโอ deepfake ให้เด็กดู แล้วสอบถามเด็กว่ามีความคิดเห็น หรือรู้สึกอย่างไรกับวิดีโอเหล่านั้น ชอบหรือไม่ เพื่อช่วยให้เด็กตระหนักถึงผลกระทบทางสังคมทั้งในเชิงบวกและลบจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในหลายๆ ด้าน
บางท่านอาจมองว่าสิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ยังดูไกลตัว แต่การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยทุกวันนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะใช้ระยะเวลาสั้นลงเรื่อยๆ การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกประเทศ ไล่ระดับมาจนถึงประชาชนทุกคน ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ไกลตัวและเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็ก หากผู้ปกครองเริ่มต้นที่จะปลูกฝังและพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับเด็ก คุณจะพบว่าเด็กเหล่านั้นคิดเป็นและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ หน้าที่ของเราคือช่วยสอนและผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่สามารถคิด วิเคราะห์ได้เอง พร้อมทั้งส่งเสริมทักษะที่จำเป็น รวมถึงสร้างเสริมจริยธรรมให้กับเด็ก โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนสามารถสร้างคอนเท้นท์และโมเดลได้เอง เรายิ่งต้องปลูกฝังการรู้เท่าทันสื่อ และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการสร้างเอไอ ที่มีคุณภาพ และสามารถปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับเอไอได้อย่างเหมาะสมในอนาคต
NOTE: ทดลองดูหลักสูตร An Ethics of Artificial Intelligence Curriculum for Middle School Students ซึ่งเป็น open source ให้ลองได้
References:
“My doll says it's ok": a study of children's conformity to a talking doll
https://dam-prod.media.mit.edu/uuid/3332bb1f-7a10-4b2f-8f8d-5451ec56065f
Kids are surrounded by AI
https://www.technologyreview.com/s/614306/kids-are-surrounded-by-ai-they-should-know-how-it-works
Why We Should Teach Kids to Call the Robot ‘It’
What parents need to teach kids about deepfake videos
How smart are the smart toys? Children and parents’ agent interaction and intelligence attribution
http://motrin.media.mit.edu/robots/wp-content/uploads/sites/7/2018/06/p231-druga.pdf
AI Ethics for middle school
Computational thinking
Comments